พระทองของดีคู่บ้านคู่เมือง
ตำนานแรกกล่าวว่า
หลวงพ่อพระทอง (พระผุด) เป็นพระพุทธรูปทองคำ อยู่ใต้องค์พระพุทธรูปพระทองครึ่งองค์ ประวัติความเป็นมา ยังไม่มีหลักฐานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่คำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นคนไทย และคนจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลานาน โดยท่านพระครูสุวรรณพุทธาภิบาล ได้บันทึกไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 ซึ่งมีหลักฐานดังนี้
หลวงพ่อพระทอง(พระผุด) ชาวบ้านคนไทยในจังหวัดภูเก็ต เรียกว่า "พระผุด" เพราะเป็นพระพุทธรูป ผุดเพียงพระเกตุมาลา สูงประมาณ 1 ศอก คนจีนเรียกว่า "ภู่ปุ๊ค" (พู่ฮุก) เพราะคนจีนเชื่อกันว่า พระผุดมาจากเมืองจีน คนจีนในภูเก็ต พังงา ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง และกระบี่ ต่างเคารพนับถือ พระพุทธรูปองค์นี้มาก เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน (เดือน 3) ก็พากันมานมัสการ เป็นประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้ เหตุที่คนจีนอ้างว่าพระผุดมาจาดเมืองจีนนั้น มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมา เมื่อสมัยสองพันปีเศษ เมืองเซี่ยงไฮ้ของจีนมีพระพุทธรูป 3 องค์ โดยตระกูลเจ้าเมืองของจีน 3 พี่น้อง เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปทองคำ 3 องค์ เล่ากันว่า พี่องค์แรกครองเมือง 25 ปี ไม่มีมเหสีและโอรสธิดา เมื่อสวรรคต องค์น้องที่สองได้ขึ้นครองราชย์ เก็บทองคำทั้งหมดหล่อเป็นพระพุทธรูป ไว้บูชาแทนองค์แรก องค์ที่ 2 ครองราชย์อยู่ 23 ปี ก็สวรรคต องค์น้องสุดท้องขึ้นครองราชย์ และเก็บเอาทองคำขององค์ที่ 2 ทั้งหมด หล่อเป็นพระพุทธรูป ซึ่งใหญ่กว่าองค์แรก เป็นพระพุทธรูปไว้บูชา แทนองค์กลาง น้ององค์ที่ 3 ครองราชย์ได้ 8 ปี ก็สวรรคต เจ้าต่างเสวยราชย์ต่อจากองค์ที่ 3 ก็เก็บเอาทองของพระเจ้าแผ่นดินมาหล่อเป็นพระพุทธรูป รวมเป็นพระพุทธรูป 3 องค์เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมาก ต่อมาเซี่ยงไฮ้ได้เสียให้แก่ชนชาวธิเบต ชาวธิเบตได้นำเอาพระพุทธรูป 1 ใน 3 องค์ ลงเรือมาทางทะเลเข้ามาทาง มหาสมุทรอินเดีย เพื่อนไปประเทศธิเบต เรือเกิดล่ม พายุพัดเข้ามาชายฝั่งพังงา เรือจมลงมีการเปลี่ยนแปลง ของเปลือกโลกบริเวณเรือจม กลายเป็นเกาะในเวลาต่อมา บริเวณใกล้องค์พระพุทธรูป มีลำคลองไหลผ่าน เมื่อฝนตกหนัก น้ำท่วมเซาะดินให้ต่ำลง หลวงพ่อก็โผล่ให้เห็นเพียง พระเกตุมาลา ส่วนองค์พระนั้น คงอยู่ใต้ดินยังขุดไม่ได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ วัดพระทอง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2502 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน เป็นการเสด็จส่วนพระองค์ ไม่มีกำหนดการพร้อมทั้ง พระราชทานลายพระหัตถ์โดยย่อว่า ภ.ป.ร. ประดิษฐานเหนือประตูทางเข้าพระวิหารหลวงพ่อพระทอง เป็นสิริมงคลแก่วัดพระทอง และพสกนิกรชาวไทยสืบมา
ประวัติความเป็นมาอันน่าสนใจเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ขององค์พระที่โผล่จากพื้นดิน เล่ากันมาว่าเมื่อแรกที่พบ “หลวงพ่อพระผุด” ณ เวลานั้นได้เกิดพายุร้าย มีฝนตกมากจนน้ำไหลท่วมทุ่งนาเสียหาย พัดพาต้นไม้โค่นล้ม หักพังระเนระนาด พอฝนหยุดตกก็ได้มีเด็กชายลูกชาวนาคนหนึ่งจูงควายไปเลี้ยงกลางทุ่ง แต่หากิ่งไม้ไม่เจอ เพราะต้องการหาที่ผูกเชือกสำหรับเลี้ยงควาย กิ่งไม้เล็กๆ ที่เคยผูก เป็นประจำ ก็ถูกกระแสน้ำพัดพาไปหมด สักพักเขาเห็นสิ่งแปลกประหลาดสิ่งหนึ่ง...มีโคลนตมพอกอยู่ มีลักษณะเหมือนตอไม้ขนาดใหญ่...ผุดขึ้นมาเลยนำเชือกคล้องควายไปผูกไว้แล้วก็กลับมาบ้าน
พอเด็กถึงบ้าน เด็กชายคนนั้นก็เกิดอาการเป็นลมล้มชัก เสียชีวิตลงทันที ในตอนเช้าวันนั้นเอง พ่อแม่ก็จัดการกับศพเด็กแล้วออกไปดูควายที่ผูกไว้ พอไปถึงที่ที่เด็กผูกควายไว้ สิ่งที่ปราฏแก่สายตาก็คือ เห็นควายนอนตายอยู่เป็นที่อัศจรรย์ และยิ่งเมื่อเดินไปดูใกล้ๆ ก็เห็นเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง พวกเขาเกิดความรู้สึกกลัวรีบตัดเชือกผูกควายออกแล้วช่วยกันนำควายไปฝัง ตกดึกคืนนั้น...พ่อของเด็กชายที่ตายก็ฝัน ว่ามีคนมาบอกว่า ที่เด็กและควายต้องตายนั้นเป็นเพราะเด็กได้นำเชือกควายไปผูกไว้กับเกศพระพุทธรูป พอตกใจตื่นรุ่งเช้าก็ชวน เพื่อนบ้านให้ไปยังที่ริมคลองที่เด็กนำควายไปผูกไว้ เมื่อเห็นวัตถุประหลาดนั้น ต่างคนต่างก็เอาน้ำมาล้างขัดสีเอาโคลนตมที่ติดอยู่ออกจนหมด จนกระทั่งสามารถ เห็นเป็นลักษณะเหมือนเกศพระพุทธรูปเหลืองอร่ามเป็นทองคำ ชาวบ้านจึงแตกตื่นพากันมา การบไหว้บูชาสักการะกันเป็นจำนวนมาก และยังชักชวนกันไปบอกให้เจ้าเมืองทรงทราบ
เจ้าเมืองถลางสมัยนั้นอยู่ที่บ้านดอน ระยะทางจากสถานที่พบพระผุดไปยังบ้านดอนที่เจ้าเมืองประทับห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร เมื่อเจ้าเมืองทรงทราบ...ก็รับสั่งให้ทำการขุดมาประดิษฐานบนดินแต่ขุดอย่างไรก็ไม่สามารถขุดได้เพราะมีเหตุมัศจรรย์เกิดขึ้นราวกับปาฏิหาริย์ ด้วยปรากฏว่ามีตัวต่อตัวแตนจำนวนมาก นับพันนับหมื่นตัว บินขึ้นมาจากใต้พื้นดิน อาละวาดไล่ต่อยผู้คนที่ขุด และยังต่อยแต่เฉพาะคนที่ขุดเท่านั้น ส่วนพวกที่ไม่ได้ขุด เพียงแต่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้ ลูบคลำเกศพระผุด ตัวต่อแตนก็จะไม่ทำอันตรายเลย เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็นมากชาวบ้านเมื่อขุดไม่ได้ก็พากันไปเรียนเจ้าเมืองให้ทรงทราบ บอกว่าบางคนที่ขุดถูกแตน ต่อ ต่อยเป็นพิษไข้ถึงแก่ความตาย
ต่อมาได้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินธุดงค์มาจากเมืองสุโขทัยมาปักกลดในบริเวณดังกล่าว ท่านได้เห็นหลวงพ่อพระผุด เป็นพระพุทธรูปโผล่เพียงพระศอขึ้นมาเป็นทองคำ ท่านเกรงว่าหากพวกโจรเห็นแล้วจะตัดไปขายเสีย ท่านจึงคิดว่าควรจะสร้างวัดที่นี่ เพื่อเป็นการรักษาพระพุทธรูปองค์นั้นเอาไว้ ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวถลางสืบต่อไป วัดพระทองแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นในสมัยดังกล่าวโดยมี “หลวงพ่อสิงห์” เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้ ท่านได้ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันสร้างกุฏิ วิหาร และสร้างอุโบสถ โดยมีหลวงพ่อพระผุดเป็นประธานในพระอุโบสถแล้วก่อสวมให้สูงขึ้นเพื่อสะดวกแก่กิจกรรมของสงฆ์ การก่อสวมสมัยนั้นก่อเพียงแต่พระพักตร์เท่านั้น วัดนี้เมื่อสร้างเสร็จชาวบ้านเรียกว่าวัดนาใน วัดพระผุด หรือวัดพระหล่อคอ เมื่อสร้างวัดแห่งนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระธุดงด์รูปนั้นได้ผูกปริศนาลายแทงไว้ดังนี้ "ยัก 3 ยัก 4 หาบผี มาเผา ผีไม่ทันเน่าหอมฟุ้งตลบ ผู้ใดคิดลบ ให้เอาที่กบปากแดง" ปริศนานี้เจ้าอาวาสต้องแก้ให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ จะอยู่วัดได้ไม่นาน แต่ไม่มีใครแก้ได้ในที่สุดวัดแห่งนี้ก็ร้างลง จนเลื่องลือกันว่า "วัดพระผุดกินสมภาร"
อีกตำนานหนึ่ง บันทึกไว้ว่า...พม่ายกทัพมาตีเมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ. 2352 ได้พยายามขุดดินลงไปเพื่อหวังจะเอาพระผุดกลับไปพม่า แต่ขุดลงไปเจอมด ตัวต่อ แตน ขบกัด เอาไฟเผาดินร้อนขุดไม่ได้ พอดีทหารไทยยกทัพมาช่วย พม่าจึงหนีไป เวลาผ่านไปอีกเนิ่นนานจนสิ่งก่อสร้างในวัดผุพังรกร้างเหลือแต่พระผุดที่พอกปูนไว้ เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พระครูจิตถารสมณวัตร์ (หลวงพ่อฝรั่ง) แห่งวัดพระนางสร้าง ท่านสามารถแก้ปริศนาได้ จึงบูรณะวัดพระผุดขึ้นมา โดยได้เป็นเจ้าอาวาส จำพรรษาอยู่ถึง 61 พรรษา จนมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2501
จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสจังหวัด ภูเก็ตและได้เสด็จมาทอดพระเนตรพระผุดองค์นี้ พระองค์ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “การก่อพระพุทธรูปสวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐถือปูนมีแต่เศียรกับพระองค์เพียงเท่าทรวงเพื่อให้ดูเหมือนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ฝีไม้ลายมือทำก็กระนั้นแหละ แต่ต้องชมว่าเขากล้า มีคนน้อยคนที่จะกล้าทำพระครึ่งองค์เช่นน ี้เพราะฉะนั้นก็จะต้องยอมรับว่าเป็นของควรดูอย่างหนึ่ง” ต่อจากนั้นรัชกาลที่ 6 ก็ได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระทอง” หากแต่อีกความเชื่อหนึ่งของพี่น้องชาวจีน...เชื่อว่าพระผุดถูกอันเชิญมาจากเมืองจีนเรียกว่า “พู่ฮุก” เล่าว่าธิเบตไปรุกรานจีนในเมืองเซี่ยงไฮ้ มีพระพุทธรูปทองคำ ชื่อ กิ้มมิ่นจ้อ ชาวธิเบตนำลงเรือมา แต่ถูกมรสุมจนเกยตื้น พระพุทธรูปองค์นั้นจมลงจนมีผู้คนมาพบ
ในปัจจุบันท่าน เป็นพระประธานที่กล่าวขานกันว่า ใครทุกข์โศกไปกราบไหว้ก็สัมฤทธิ์ผลดลบันดาลให้ตามที่ปรารถนา นอกจากพระผุด แล้ว ที่วัดแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ ที่ทางวัดจัดสร้างไว้ โดยรวบรวม วัตถุสิ่งของที่มีค่าทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย บอกถึงวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี
การเดินทาง
ถ้าคนไหนมาจากทางสนามบิน หรือจังหวัดอื่น ๆ แนะนำให้แวะเที่ยวก๋อนจ้า เพราะเป็นทางผ่าน ซึ่งวัดพระทองจะอยู่ถนนวัดพระทอง ซึ่งทางเข้าจะอยู่ก่อนถึง CP Freshmart นะคะ จากปากทางเข้าไปก็ประมาณ 500 เมตรค่ะ
GPS: 8.033755,98.337089
ถ้ามาเที่ยวภูเก็ต ก้่ออย่าลืมแวะไปไหว้กราบนมัสการกันนะคะ ^/\^
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น